ความหมายของเพศ
ความหมายของ ความหมายของเพศ คำว่า “ เพศ ” ในอดีตมีการใช้เพื่อสื่อความหมายต่าง ๆ อย่างมากมายหลากหลาย จนทำให้เกิดความสับสน เพราะอธิบายถ...
ความหมายของ
ความหมายของเพศ
คำว่า “เพศ” ในอดีตมีการใช้เพื่อสื่อความหมายต่าง ๆ
อย่างมากมายหลากหลาย จนทำให้เกิดความสับสน เพราะอธิบายถึงความหมายในหลากหลายนัย
เช่น แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างอวัยวะเพศ การเรียกตามลักษณะสรีระ
การแบ่งตามลักษณะนิสัย รวมไปถึงรสนิยมทางเพศ ก่อให้เกิดความสับสน
และความไม่ชัดเจนตามหลักภาษา ดังนั้นคำว่าเพศ
จึงสามารถสรุปความหมายโดยรวมว่าหมายถึง ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่ถูกกำหนดโดยลักษณะทางสรีระวิทยา
หรือความประสงค์ของเจ้าของสรีระนั้น
ซึ่งยังมีความหมายรวมไปถึงเพศภาวะ และเพศวิถีด้วย
ดังนั้น
เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงเกิดคำจำกัดความ “เพศ” เพื่ออธิบายความหมายตามลักษณะและองค์ประกอบโดยสรุปได้ 3 นัย ดังนี้
1. เพศสรีระ (Sex)
2. เพศสภาวะ (Gender)
3. เพศวิถี (sexuality)
กล่าวโดยละเอียดได้ดังนี้
1. เพศสรีระ (Sex)
เพศสรีระ หรือ
Sex
หมายถึง การจำแนกมนุษย์ตามลักษณะทางชีววิทยา
คือการเรียกเพศของมนุษย์ตามลักษณะอวัยวะเพศโดยกำเนิด
ออกตามลักษณะของอวัยวะสืบพันธ์ หรือลักษณะทางโครโมโซมเพศ (sex chromosome) ดังนี้
ชื่อเรียกอวัยวะเพศ: เพศชาย คือองคชาต (Penis) เพศหญิง คือช่องคลอด (Vagina)
โครโมโซมเพศ: เพศหญิง XX เพศชาย XY
นอกจากนี้
การแบ่งเพศตามลักษณะสรีระนี้ยังใช้ในการจำแนกเพศของพืช
และสัตว์อีกด้วยโดยจะเรียกว่า เพศผู้ และเพศเมีย ตามลักษณะอวัยวะเพศในขณะที่ความหมายของ
Sex
ในภาษาอังกฤษนั้น ยังหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ หรือการร่วมเพศอีกด้วย
ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบพันธ์นั้น
จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดความการร่วมเพศระหว่างชายและหญิงเท่านั้น (Heterosexual
for Procreation)
2. เพศภาวะ (Gender)
เพศภาวะ หรือ
เพศสภาพ หรือ เพศสถานะ คือคำจำกัดความของเพศ
ซึ่งมีความหมายว่าสภาวะกำหนดเพศโดยโครงสร้างทางสังคม
ซึ่งในอดีตมนุษย์ถูกหล่อหลอมและปลูกฝังการเรียกเพศตามลักษณะสรีระ คือ หญิง ชาย
ทำให้ส่วนใหญ่ประเมินความเป็นเพศจากลักษณะทางสังคมวิทยาเช่น การปลูกฝังว่าเพศหญิงต้องไว้ผมยาว
มีกริยานุ่มนวลอ่อนหวาน ประณีตละเอียดลออ
ซึ่งในสังคมไทยได้เปรียบเทียบเพศหญิงตามเพศภาวะว่า “ช้างเท้าหลัง”
ในขณะที่เพศชาย ต้องเข็มแข็งสุภาพ เป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ
ร่างกายบึกบึนกำยำ ตัดผมสั้น ในสังคมไทยเปรียบเทียบตามเพศภาวะว่า “ช้างเท้าหน้า” ซึ่งหากสังคมเกิดเปลี่ยนการกำหนดสถานะทางเพศให้นอกเหนือจากพฤติกรรม
หรือลักษณะทางกายภาพที่สังคมกำหนดคือ ชาย หญิง แล้ว
อาจกำหนดได้เพิ่มเติมจากองค์ประกอบอื่น ๆ เพศภาวะก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เช่น เกย์
กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ฯลฯ อันจะนำไปสู่การกำหนดบทบาท เพศต่าง ๆ
มากกว่าหญิงและชาย
3. เพศวิถี (Sexuality)
องค์การอนามัยโลก
(2) ได้ให้ความหมายของคำว่า “เพศวิถี หรือ Sexuality”
ว่าหมายถึง มุมมองตลอดชีวิตของมนุษย์ในแง่ของเพศ
ความเป็นชายหญิงและบทบาททางเพศ การรับรู้สภาพแวดล้อมทางเพศ (Sexual
orientation) ลักษณะที่กระตุ้นความต้องการทางเพศ (Eroticism)
ความพึงพอใจทางเพศ (Pleasure) ความสัมพันธ์ทางเพศและการสืบพันธุ์
(Intimacy and reproduction) เพศวิถี
เป็นประสบการณ์ที่ได้รับและแสดงออกในด้านความคิด (Thought) การจินตนาการ
(Fantasies) ความปรารถนา ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่า พฤติกรรม
การปฏิบัติ บทบาทและความสัมพันธ์
ในขณะที่เพศวิถีสามารถที่จะรวมในทุกมิติที่กล่าวแต่ไม่จำเป็นที่ทุก ๆ
อย่างที่กล่าวจะได้เคยมีประสบการณ์หรือแสดงออกมา เพศวิถีได้รับอิทธิพลจากทาง
ร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ศาสนาและองค์ประกอบของจิตวิญญาณ
ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการไทยหลากหลายท่าน (3) ซึ่ง ได้ให้ความหมายของเพศวิถี
ว่าหมายถึง วิถีชีวิตทางเพศที่ถูกหลอมสร้างจากค่านิยม บรรทัดฐาน และระบบ วิธีคิด
วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความปรารถนาและการแสดงออกทางเพศ ความคิดเกี่ยวกับคู่รัก
คู่ชีวิตในอุดมคติ และกามกิจ
นักสตรีนิยมไทย
(4) ได้ให้ความหมายของคำว่าเพศวิถี ว่าหมายถึง
วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความปรารถนาทางเพศ หรือภาษากฎหมายล้านนาดั้งเดิม เรียกว่า “ตัณหาอาลัย” โดยในแต่ละระบบสังคมนั้น ความปรารถนาทางเพศของปัจเจกบุคคลเป็นมากกว่าพฤติกรรมตามธรรมชาติ
ว่าใครมีเพศสัมพันธ์กับใคร ที่ไหน อย่างไร แต่หมายรวมถึงความปรารถนาที่ดี
ที่เหมาะสม การเกี้ยวพาราสี มโนทัศน์เกี่ยวกับคู่ในอุดมคติ ฯลฯ
จึงเป็นทั้งเรื่องการสร้างความหมายทางสังคม เป็นเป้าหมายของการควบคุมทางสังคมและการเมือง
และเป็นพื้นที่ของการยอมจำนนและการต่อสู้ในระดับปัจเจกชนจากที่กล่าวมาข้างต้น
สรุปได้ว่า
เพศวิถี หมายถึง มุมมอง ค่านิยม และบรรทัดฐานของมนุษย์ในเรื่องเพศ
ตลอดจนวิธีปฏิบัติและการแสดงออกทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ
แต่เป็นความหมายในเชิงมิติ ที่ถูกกำหนดทางสังคมวิทยาด้านต่าง ๆ เช่น ทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์กฎหมาย และวัฒนธรรม เป็นต้น
ซึ่งล้วนเกิดจากสภาวะความสัมพันธ์ของจิตใจและร่างกายของมนุษย์
ที่ใช้เป็นตัวกำหนดและสร้างความหมายให้แก่เรื่องเพศในหลากหลายแง่มุม
สิ่งที่เราควรจะศึกษาต่อไปคือประเด็น
ความสำคัญของเพศวิถีศึกษา มีดังนี้ << โปรดติดตามได้ที่นี่
>> โดยการเข้าใจเรื่อง เพศวิถีและเพศศึกษา
มาก่อนหน้านี้แล้ว << กรุณาอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ >>
*************************
อ้างถึง
:
(1) กฤตยา อาชวนิจกุล, 2554 : 44 (2)
World Health Organization, 2002 (3) ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ (2550) (4)
กาญจนา แก้วเทพ และ พริศรา แซ่ก้วย (2547 : 14)